Home



สาระน่ารู้

- นับวันไข่ตก นับอย่างไรกันแน่?
- ปัจจัยการตั้งครรภ์/การมีบุตรยาก/ขั้นตอนการรักษา
- ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติทำให้ไข่ไม่ตก
- การกระตุ้นการตกไข่
- ผู้ชายที่อยากมีลูกโปรดทราบ
- ความอ้วนและภาวะมีบุตรยาก
- ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการตั้งครรภ์
- การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี
- ตกขาว...อย่าตกใจ
- ห้ายุทธวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลและถูกสุขลักษณะ
- เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
- อาการและการวินิจฉัยการตั้งครรภ์
- เมื่อไรจึงจะเหมาะในการตรวจการตั้งครรภ์
- อาการปวดท้องจากการตกไข่
- อยากมีลูกแต่ไม่อยากไปหาหมอ
- มีเนื้องอกในมดลูก...ตั้งท้องได้ไหม
- สำคัญที่ใจ
- 20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง
- ประจำเดือนขาดนานเท่าไรถึงรู้ว่าตั้งครรภ์
- เรื่องต้องพร้อมก่อนท้อง
- เซ็กซ์แบบไหนได้ลูกสมใจซะที
- อยากมีลูก...ทำยังไงให้ท้อง


 

 

 

 

อยากมีลูกแต่ไม่อยากไปหาหมอ

" ผู้คนมากมาย ที่แต่งงานมานานจนความหวานเริ่มจืดจางก็ยังไม่มีบุตร บางทีอาจเป็นเพราะไม่มีวาสนาบางทีอาจเป็นที่ไม่ได้ รับคำปรึกษาถูกต้องกับปัญหา ไม่ว่าจะด้วยเป็นสาเหตุใด วิทยาการสมัยใหม่ช่วยเหลือได้ แต่หากไม่อยากไปหาหมอ ยังพอมีวิธีการแก้ไขอยู่ "

คู่สามีภรรยาที่จะลองรักษาเอง ควรจะต้องไม่มีความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ชัดเจน ซึ่งท่านสามารถรู้ได้ง่ายๆ โดยตอบคำถามต่อไปนี้

1. แต่งงานมานานกว่า 1 ปี ใช่หรือไม่
2. มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ (อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง) ใช่หรือไม่
3. อายุของฝ่ายหญิงน้อยกว่า 40 ปี ใช่หรือไม่
4. มีระดูสม่ำเสมอทุกเดือน ใช่หรือไม่
5. ทั้งสามีภรรยา ไม่เคยมีโรคหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ใช่หรือไม่
6. เคยท้อง, แท้งมาก่อน ใช่หรือไม่

ถ้าคำตอบของคำถามทั้ง 6 ข้อคือ "ใช่" คู่ชีวิตของท่านมีโอกาสอย่างมากที่จะมีบุตร โดยไม่ต้องไปหาหมอ แต่ถ้าคำตอบบางคำถามยังไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกัน จึงมีเพศสัมพันธ์น้อย คงต้องแก้ไขในส่วนที่บกพร่องนั้นสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะคิดถึงการรักษาอย่างอื่น

ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งไหนๆ ย่อมมีความสำคัญ

• สามีหรือภรรยาเคยหย่าร้างและมีบุตรมาก่อน
• สตรีที่เคยทำแท้งหรือแท้งบุตรเองมาก่อน
• สามีที่ภรรยาน้อยมีบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์

ประวัติเหล่านี้ ล้วนชี้แสดงให้เห็นว่า ศักยภาพการสืบพันธุ์ของคนผู้นั้นสมบูรณ์พร้อม ยกตัวอย่างสามีภรรยาคู่หนึ่ง อายุ 40 ปีพอๆ กัน แต่งงานมานาน 20 ปี ยังไม่เคยตั้งครรภ์ วันหนึ่งจึงได้มารับการรักษากับข้าพเจ้าเกี่ยวกับปัญหาภาวะมีบุตรยาก

เมื่อรักษาไปได้สักระยะหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ทำ "กิฟ" ให้ ผลปรากฏว่าตั้งครรภ์สำเร็จ โชคไม่ดีที่การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงเพียงแค่อายุครรภ์ 2 เดือน และได้รับการขูดมดลูกรักษา

ต่อมาได้ทำ "กิฟ" ให้อีก ปรากฏว่า ไม่ตั้งครรภ์ สองสามีภรรยารู้สึกท้อถอย และกล่าวว่า "จะไม่รักษาใดๆ อีก" ก่อนจะกลับ ข้าพเจ้าได้พูดให้กำลังใจว่า "คนไข้สตรีที่เคยตั้งครรภ์ (รวมทั้งที่เคยแท้งด้วย) มาก่อน ต่อไปจะตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมภายในร่างกายได้เปลี่ยนแปลงไปจนเหมาะสมกับการตั้งครรภ์แล้ว เดิมทีสิ่งแวดล้อมภายในมดลูกและท่อนำไข่อาจจะมีปัญหาแต่เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาครั้งหนึ่ง จะด้วยวิธีการใดก็ตาม ภาวะความผิดปกติต่างๆ ภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีผู้นั้น จะได้รับการแก้ไขโดยอัตโนมัติ ไม่แน่...อีกไม่นาน คุณทั้งสองอาจจะมีข่าวดี ขอให้โชคดีนะครับ"

หลังจากนั้น 3 เดือน สองสามีภรรยาได้กลับมาหาข้าพเจ้าพร้อมกับนำข่าวดีมาบอก
"ภรรยาผมท้องแล้ว ตามคำทำนายของหมอจริงๆ แต่ไม่ทราบว่าจะมีปัญหาหรือเปล่าครับ" คำถามแรกที่ฝ่ายสามีถาม
"ไม่มีปัญหาหรอก สบายใจได้ แต่ตอนครรภ์อายุ 16 สัปดาห์ ควรจะเจาะดูดน้ำคร่ำไปตรวจโครโมโซมเพราะคุณแม่อายุเกิน 35 ปี เป็นข้อบ่งชี้อันหนึ่งที่ควรทำ" ข้าพเจ้าตอบ
"ดิฉันขออนุญาตไม่ทำกรรมวิธีเจาะดูดน้ำคร่ำตรวจโครโมโซม เพราะผู้หญิงข้างบ้านทำแล้ว ต่อมาก็แท้งเราทั้งสองกลัวค่ะ ถ้ามีปัญหาอะไร เรารับได้ แต่จะไม่ยอมทำวิธีการนี้โดยเด็ดขาด" ฝ่ายภรรยายืนยันแข็งขัน ที่จะปล่อยการตั้งครรภ์ให้เป็นไปอย่างธรรมชาติที่สุด

การตั้งครรภ์ดำเนินไปโดยไม่มีปัญหา และคลอดบุตรโดยการผ่าตัดออกมา เมื่อครบกำหนด ได้ทารกเพศชายแข็งแรงดี ไม่มีความผิดปกติใดๆ หนักประมาณ 3,000 กรัม
หลังจากคลอดบุตรคนแรกได้ 8 เดือน คนไข้สตรีตั้งครรภ์ขึ้นมาอีก ขณะนั้นเธออายุได้ 42 ปีแล้วและผ่าตัดคลอดบุตรเมื่อครบกำหนดอีกครั้ง ปรากฏว่าทารกเป็นเพศชายหนัก 3,200 กรัม แข็งแรงสมบูรณ์ดี เช่นเดียวกับครรภ์แรก
ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ศักยภาพการมีบุตรของมนุษย์ อาจถูกบดบังได้แม้โครงสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ภายในปกติ การช่วยเหลือด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์นับว่ามีประโยชน์ แต่ต้องไม่ลืมว่า "ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ยังมีศักยภาพด้านการสืบพันธุ์อยู่สูงมากในวิถีทางของธรรมชาติเอง"

ระดูปกติสม่ำเสมอ มีความสำคัญเกี่ยวกับการมีบุตร

สตรีทั่วๆ ไป ปกติจะมีรอบระดูอยู่ระหว่าง 26-30 วัน (แต่ไม่ควรเกิน 5 วัน) หากมีช่วงห่างของรอบระดูมากหรือน้อยกว่านี้ สันนิษฐานว่า การทำงานของรังไข่น่าจะมีปัญหา
กรณีที่รอบระดูห่างมากกว่า 35 วัน น่าจะเกิดจากภาวะไข่ไม่ตก ส่วนกรณีที่รอบระดูสั้นกว่า 26 วัน อาจเป็นไปได้ว่าบริเวณที่ไข่ตกทำงานบกพร่อง ทั้งสองกรณี ควรไปหาหมอรักษาจะดีกว่า

การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูกของระดูปกติมี 2 ระยะ ดังต่อไปนี้

1. ระยะครึ่งแรกของระดู ระยะนี้เริ่มตั้งแต่วันแรกของระดู จนถึงวันที่ "ไข่ตก" ช่วงระยะเวลานี้ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญหนาขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจาก "ไข่" เป็นตัวกระตุ้น
2. ระยะครึ่งหลังของระดู เริ่มนับตั้งแต่วันที่ "ไข่ตก" ไปจนถึงวันแรกของระดูในครั้งถัดมา ระยะนี้กินเวลาคงที่ คือ 13-14 วัน แต่ระยะก่อนหน้านั้นอาจสั้นหรือยาวกว่า 14 วันก็ได้เยื่อบุโพรงมดลูกในระยะนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการฝังตัว โดยอาศัยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่สร้างจากบริเวณที่ "ไข่ตก" หากไม่มีการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวออกมา พร้อมระดูอย่างสมบูรณ์

อยากมีลูกต้องรู้ว่า เมื่อไหร่ "ไข่" จะตก

ในแต่ละรอบเดือน มี "ไข่" เจริญเติบโตขึ้นหลายใบ แต่อาศัยกลไกธรรมชาติช่วยคัดเลือกให้เหลือ "ไข่" สมบูรณ์ตกออกมาเพียงใบเดียว ซึ่งเราสามารถทำนายวันที่ "ไข่ตก" ได้โดย

1. วัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนตกไข่ไม่นานจะมีการลดลงของอุณหภูมิร่างกายเล็กน้อย จากนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและคงอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานานจนกว่าจะมีระดู วันใดที่อุณหภูมิร่างกาย มีลักษณะลดลงและเพิ่มสูงขึ้นทันที วันนั้นเป็นวันที่ "ไข่ตก"

2. ก่อน "ไข่ตก" 12-24 ชั่วโมง จะมีการเพิ่มสูงขึ้นของ "LH" อย่างรวดเร็วทันทีทันใด เรียกว่า "LH SURGE" ช่วงเวลานี้จะมีฮอร์โมน "LH" อยู่ในกระแสเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำลายจำนวนมาก ปัจจุบันมีอุปกรณ์ทดสอบ "LH SURGE" มากมาย จึงเป็นการง่ายที่จะทราบเวลา "ไข่ตก" หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาหลังทดสอบ ผลบวก 12-24 ชั่วโมง โอกาสตั้งครรภ์จะมีสูงมาก

3. น้ำเมือกภายในช่องคลอดสตรีช่วงเวลาใกล้ไข่ตก จะมีจำนวนมากและยืดหยุ่นได้ดี ในช่วงเวลานี้สตรีผู้นั้นจะมีความรู้สึกเปียกชุ่ม ในช่องคลอดตลอดเวลา และหากนำน้ำเมือกขณะนั้นมาทำให้แท้งบนแผ่นกระจก และส่องขยายดู จะเห็นเป็นผลึกรูปเฟิร์นอย่างสวยงาม

4. เราสามารถคำนวณหาวันที่ "ไข่ตก" ได้ง่ายๆ โดยการเอาจำนวนวัน (เฉลี่ย) ของรอบระดู (วันแรกของระดูถึงวันแรกของระดูถัดมา) เช่น 28, 30 หรือ 35 ลบด้วยตัวเลข 14 (ระยะครึ่งหลังของรอบระดูซึ่งเป็นระยะเวลาคงที่) จะได้วันที่ "ไข่ตก" พอดี

ยกตัวอย่าง สตรีนางหนึ่งมีระดูทุก 30 วัน ดังนั้นจะมี "ไข่ตก" ในวันที่ (30-14,16) ของรอบเดือนโดยนับวันที่ระดูมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้น น่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จ
อยากมีลูก ฝ่ายชายน่าจะละความอายไปตรวจ "อสุจิ" สักครั้ง

เป็นการยากมากที่จะคาดเดาว่า ฝ่ายชายมี "อสุจิ" ปกติในกรณีที่ไม่เคยมีประวัติภรรยาตั้งครรภ์มาก่อน แต่เป็นการง่ายมาก สำหรับการตรวจวิเคราะห์ "อสุจิ" ด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยที่ไม่ต้องเจ็บตัวสักนิด
ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาจากฝ่ายชาย สามีควรละความอายไปตรวจวิเคราะห์ "อสุจิ" ตามหลักวิทยาศาสตร์สักครั้งหนึ่ง
หากพบว่า ผลปกติในการตรวจเพียงครั้งเดียว ก็ไม่ต้องวิตก ที่จะทดลองวิธีธรรมชาติต่อไป แต่ถ้าผลผิดปกติจากการตรวจวิเคราะห์ 2 ครั้ง ย่อมสรุปได้ว่า ควรพิจารณาไปหาหมอรักษา ดีกว่าจะเสียเวลาทดองวิธีธรรมชาติ
"อสุจิ" ของผู้ชายปกติที่สามารถทำให้สตรีตั้งครรภ์ได้ มักจะมีปริมาณ "ตัวอสุจิ" 40-50 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรขึ้นไป หากมีปริมาณน้อยกว่า 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร จะมีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยาก

คุณสมบัติของ "น้ำเชื้ออสุจิ"

น้ำเชื้ออสุจิ ที่หลั่งออกมาใหม่ๆ จะจับตัวรวมกันเป็นก้อน "ตัวอสุจิ" ส่วนใหญ่จะอยู่ภายในก้อน "อสุจิ" นั้นลักษณะคล้ายๆ กับปลาจำนวนมาก ที่ขังอยู่ภายในถุงตาข่าย ก้อน "อสุจิ" นั้นจะใช้เวลาละลายตัวประมาณ 15-30 นาที เมื่อละลายตัวเรียบร้อยแล้ว "ตัวอสุจิ" จะว่ายออกมาดุจปลาที่ถูกปล่อยอกจากถุงตาข่าย
แนวทางการมีลูก ด้วยวิธีธรรมชาติ

ก่อนอื่น หาวันที่ "ไข่ตก" ให้ได้โดยเอาจำนวนวันของรอบเดือน (วันแรกของระดูถึงวันแรกของระดูถัดมา) ลบด้วย 14 จะได้วันที่ "ไข่ตก" (นับจากวันแรกของระดู) คร่าวๆ นำอุปกรณ์ทดสอบ "LH SURGE" (ซื้อจากร้านขายยาทั่วๆ ไป) เพื่อหาช่วงเวลา "ไข่ตก" ไปทดสอบปัสสาวะ (หรือน้ำลาย) ตอนเช้าในวันก่อน "ไข่ตก" (จากการคำนวณ) ล่วงหน้า 2 วัน และทดสอบติดต่อกันทุกวัน วันใดปรากฏผลบวก ไห้มีเพศสัมพันธ์ในคืนนั้นและคืนถัดไป
ในช่วงใกล้ "ไข่ตก" ปฏิกิริยาของร่างกายที่จะช่วยยืนยัน คือ ภายในช่องคลอด จะมีน้ำเมือกเหนียวใสยืดหยุ่นได้ดีผลิตออกมาจำนวนมาก ก่อให้เกิดความรู้สึกชุ่มชื้นและเปียกตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่ง คือร่างกายจะรู้สึกอุ่นๆ คล้ายจะมีไข้ต่ำ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนดังที่กล่าวข้างต้น

การมีเพศสัมพันธ์เพื่อหวังผลมีบุตร ควรปฏิบัติดังนี้

ฝ่ายหญิง ควรทำธุระเกี่ยวกับห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อมีเพศสัมพันะแล้ว ไม่ควรลุกเดินไปห้องน้ำทำความสะอาดอีกเพราะ "อสุจิ" ที่จับตัวเป็นก้อนจะร่วงหลุดออกจากช่องคลอด ทำให้ "ตัวอสุจิ" ส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในก้อน "อสุจิ" นั้น สุญหายไป ทางที่ดี ควรนอนพักผ่อนสบายๆ บนเตียงต่อไป นานประมาณ 30 นาที เพื่อให้ "ก้อนอสุจิ" ละลายตัว "ตัวอสุจิ" จึงจะแหวกว่ายออกมา และสามารถเข้าไปทำหน้าที่ปฏิสนธิภายในท่อนำไข่ได้

คู่สามีภรรยาที่อยากมีลูกเอง โดยไม่ยอมไปหาหมอ ภรรยาควรมีอายุน้อยกว่า 40 ปี และมีระดูสม่ำเสมอส่วนสามีควรมีน้ำเชื้ออสุจิปกติ ซึ่งคงต้องอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ช่วย นอกจากนั้น คนทั้งสองจะต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธีในช่วงเวลา "ไข่ตก" พอดีอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากความพยายามล้มเหลว เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานปี คงไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะต้องไปปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านภาวะมีบุตรยาก ถ้าหากอยากมีลูกน้อยไว้เชยชม


นพ.เสรี ธีรพงษ์

ที่มา: นิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 22 ฉบับที่ 329 สิงหาคม 2542