Home



สาระน่ารู้

- นับวันไข่ตก นับอย่างไรกันแน่?
- ปัจจัยการตั้งครรภ์/การมีบุตรยาก/ขั้นตอนการรักษา
- ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติทำให้ไข่ไม่ตก
- การกระตุ้นการตกไข่
- ผู้ชายที่อยากมีลูกโปรดทราบ
- ความอ้วนและภาวะมีบุตรยาก
- ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการตั้งครรภ์
- การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี
- ตกขาว...อย่าตกใจ
- ห้ายุทธวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลและถูกสุขลักษณะ
- เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
- อาการและการวินิจฉัยการตั้งครรภ์
- เมื่อไรจึงจะเหมาะในการตรวจการตั้งครรภ์
- อาการปวดท้องจากการตกไข่
- อยากมีลูกแต่ไม่อยากไปหาหมอ
- มีเนื้องอกในมดลูก...ตั้งท้องได้ไหม
- สำคัญที่ใจ
- 20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง
- ประจำเดือนขาดนานเท่าไรถึงรู้ว่าตั้งครรภ์
- เรื่องต้องพร้อมก่อนท้อง
- เซ็กซ์แบบไหนได้ลูกสมใจซะที
- อยากมีลูก...ทำยังไงให้ท้อง


 

 

 

 

เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช   โรงพยาบาลวิภาวดี

การวางแผนเพื่อเตรียมตัวที่จะให้กำเนิดลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่คู่สมรสสามารถทำได้ นอกจากจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถมีโอกาสได้ลูกน้อยซึ่งสมบูรณ์ และเป็นปรกติที่สุดอีกด้วย โดยทั้งคู่ควรวางแผนอย่างน้อย 3 เดือนล่วงหน้าก่อนเริ่มตั้งครรภ์ คุณควรรักษาสุขภาพและกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ เพื่อเตรียม พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ หากมีข้อใดที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

ข้อคิดในการเตรียมตัวเพื่อตั้งครรภ์

1.  โรคประจำตัว 
หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคลมชัก, โรคหืด, โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนมีครรภ์เสมอ เพราะอาจต้องเปลี่ยนยาซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ หรืออาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะถ้าได้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ก็มีโอกาสที่จะมีลูกที่สมบูรณ์ได้

2.  ควรตรวจดูว่าเรามีโรคติดต่อร้ายแรง  เช่น ซิฟิลิส  เอดส์  ไวรัสตับอักเสบ และวัณโรคหรือไม่  เพราะอาจติดไปถึงลูกได้  ถ้าไม่ได้ป้องกันและรักษาก่อน

3.  หัดเยอรมัน (Rubella)
หากไม่เคยมีภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมันและติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะภายในที่ซับซ้อน จะทำให้ลูกมีโอกาสเกิดความพิการได้ เช่นหูหนวก, ตาบอด, สมองเล็ก, หัวใจรั่ว หากเป็นไปได้ควรให้แพทย์ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์เสมอ ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์จะฉีดวัคซีนให้  และควรคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนนี้อย่างน้อย 3 เดือน (ถ้าตั้งครรภ์แล้ว ห้ามฉีดวัคซีนนี้ตลอดระยะการตั้งครรภ์)

4.  โรคทางกรรมพันธุ์ 
ตามประวัติของครอบครัวทั้งสองฝ่ายมีโรคกรรมพันธุ์หรือไม่ เพราะโรคบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น ฮีโมฟีเลีย (Haemophilia) คือโรคที่เลือดไหลไม่หยุด เกิดจากการขาดสารที่ช่วยในการสร้างลิ่มเลือดในตับ ดังนั้น หากมีบาดแผลเกิดขึ้นที่ใดก็ตามเลือดจะออกไม่หยุด หรือโรคทาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือโรคโลหิตจาง หรือโรคซีด ในประเทศไทยมีคนเป็นโรคนี้มากโดยเฉพาะแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ลูกคุณก็มีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ได้ ฉะนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และอาจต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด

 

5.  การใช้ยา
หากรู้สึกว่าอาจจะตั้งครรภ์ควรงดใช้ยาทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเพราะมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาก่อนการตั้งครรภ์

6.  เคยใช้หรือกำลังใช้ยาคุมกำเนิด
คุณควรหยุดใช้ยาคุมกำเนิดทันทีและให้เวลาธรรมชาติของร่างกายคุณกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยควรรอให้มีประจำเดือนอย่างน้อย  2  ครั้งก่อนการตั้งครรภ์ โดยให้สามีคุณใช้ถุงยางอนามัยระหว่างนั้น

7.  รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์
ควรรับประทานอาหารให้ครบส่วน และกินผักสด, ผลไม้สดให้ติดเป็นนิสัย เพื่อจะได้มีโอกาสตั้งครรภ์ และมีบุตรที่แข็งแรง สุขภาพดี

8.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เพื่อให้ร่างกายสดชื่น แข็งแรง เช่น เดินออกกำลังกาย, ว่ายน้ำ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายไม่ค่อยปวดหลัง ปวดเอว ขณะตั้งครรภ์ด้วย

9.  เหล้า, บุหรี่ 
ถ้าคุณคิดที่จะตั้งครรภ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลิกดื่มเหล้าและงดสูบบุหรี่ เพราะทั้ง  2  อย่าง  จะทำให้ความสามารถในการมีลูกลดลงทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพราะแอลกอฮอล์มีพิษทำลายคุณภาพของอสุจิและไข่ รวมทั้งทำลายเซลล์สมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์และมีโอกาสทำให้เกิดการแท้งบุตร ส่วนบุหรี่จะทำให้มีโอกาสคลอดทารกก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตระหว่างคลอด หากไม่เสียชีวิต ทารกมักมีน้ำหนักตัวน้อย คุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่แต่สูดดมควันบุหรี่จากคุณพ่อหรือผู้อื่นเป็นประจำ ก็มีผลเช่นเดียวกัน ฉะนั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรงดสูบบุหรี่แล้ว คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่นอีกด้วย

10.  น้ำหนักตัว
ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อคิดตามส่วนสูงเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ถ้าน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป ควรพบแพทย์เพื่อควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรลดความอ้วน เพราะจะทำให้ทารกขาดสารอาหารที่จำเป็น

11.  อายุ
อายุที่เหมาะสมจะมีบุตรของผู้หญิงเราคือ อายุ 20 - 30 ปี แต่ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้าลงและมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น หากคิดจะมีลูกเมื่ออายุเกิน 35 ปี ควรปรึกษาแพทย์ เพราะยิ่งมีลูกตอนอายุมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีลูกยากหรือมีลูกไม่สมบูรณ์ก็สูงขึ้นเท่านั้น

12.  เวลา
หากคุณทั้งคู่ทำงานหนัก แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน หรือแม้กระทั่งเวลาส่วนตัว คงต้องคิดทบทวนดูให้ดีก่อนจะมีลูก เพราะเด็กๆ ต้องการความรัก, ต้องการเวลา และความอบอุ่นจากพ่อแม่ เพื่อคอยดูแลเอาใจใส่  ตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิดจนเติบโต เวลาสำหรับสังสรรค์กับเพื่อน, เข้าสังคม เที่ยวเตร่เฮฮา หรือแม้แต่เวลาส่วนตัวจะลดน้อยลงเต็มทีเมื่อคุณมีลูก

13.  การเงิน
คุณควรคำนึงถึงความสามารถในการหารายได้ และขนาดของครอบครัวที่คุณต้องการว่าเหมาะสมกันแค่ไหน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก เรื่องอาหารการกินอยู่ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ จิปาถะฯ ปรกติจะตกประมาณ 15 - 25% ของรายได้ครอบครัว หากคิดจะมีลูกก็ควรวางแผนในการเก็บเงิน และการใช้จ่ายเงินทองให้ดี เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดภาวะการเงินฝืดเคืองจนมีหนี้สินจำนวนมาก เป็นการนำความเครียดมาสู่ครอบครัวโดยใช่เหตุ

14.  การตรวจเลือดก่อนการตั้งครรภ์  ควรรับการตรวจกรุ๊ปเม็ดเลือด  ซิฟิลิส  เอดส์  ไวรัสตับอักเสบบี (และซี)  ภูมิต้านทานหัดเยอรมันและตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย